ก่อนจะมาเป็น “กาแฟขี้ช้าง”
กาแฟที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
กาแฟขี้ช้าง
กาแฟชนิดพิเศษที่ผลิตในประเทศไทยที่เดียวในโลกขณะนี้ มีความพิเศษอย่างไร
จึงเป็นกาแฟที่มีราคาแพงที่สุดในโลกด้วย โดยมีสนนราคาอย่างต่ำถึงกิโลกรัมละ 45,000
บาท บีบีซีไทยได้คุยกับคุณเบลค ดินคิน ชาวแคนาดา ผู้ริเริ่มผลิตกาแฟขี้ช้าง
ภายใต้ชื่อการค้า “แบลค ไอวอรี คอฟฟี” ดังนี้ค่ะ
คุณเบลคเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า
กว่าจะมาถึงวันนี้ ได้ลองผิดลองถูกมามาก
โดยเขาได้แนวคิดเรื่องการผลิตกาแฟที่ใช้กระบวนการย่อยของสัตว์เป็นที่บ่มเมล็ดกาแฟ
ตั้งแต่ตอนอยู่ที่แคนาดาแล้ว โดยเมื่อปี 2545 นั้นเป็นครั้งแรกที่เขาได้อ่านเรื่องกาแฟขี้ชะมดที่ผลิตในอินโดนีเซีย
เขาจึงไปลองทำดูบ้างในประเทศเอธิโอเปียเป็นเวลาหนึ่งปี แต่หลังจากนั้นก็พบปัญหาว่า
มีการปลอมกาแฟขี้ชะมดเกิดขึ้นมาก โดยเกษตรกรเพียงแค่นำเมล็ดกาแฟไปคลุกกับมูลชะมด
แล้วอ้างว่าเป็นกาแฟที่ผ่านกระบวนการย่อยและขับถ่ายของชะมด
แต่การทำกาแฟขี้ชะมดจริงๆ
จะต้องให้ชะมดกินผลหรือลูกกาแฟที่มีเมล็ดกาแฟเข้าไปและอาศัยเอ็นไซม์ในกระบวนการย่อย
ทำให้เมล็ดกาแฟที่ได้ออกมา มีรสชาติและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์
นอกจากนั้นช่วงเวลาดังกล่าวยังมีปัญหาการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง
(ซาร์ส) ซึ่งชะมดเป็นพาหะนำโรค
รวมทั้งมีเรื่องจริยธรรมและสิทธิสัตว์เข้ามาเกี่ยวข้อง
สินค้าที่ผลิตออกมาจึงไม่ได้เป็นสินค้าที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและหลักจริยธรรมเท่าใดนัก
หลังจากที่เลิกผลิตกาแฟขี้ชะมดไป
เขาได้อ่านข่าวพบว่า ช่วงหน้าแล้งมักมีช้างป่าในแอฟริกาตะวันตกและเอเชียใต้
เข้าไปทำลายไร่กาแฟ กินผลและเมล็ดกาแฟของเกษตรกร
เรื่องรุนแรงถึงขั้นมีการฆ่าช้างเกิดขึ้น ทำให้คุณเบลครู้ว่า ช้างก็กินกาแฟด้วย
เขาจึงกลับไปแคนาดาและทดลองให้ช้างในสวนสัตว์ที่แคนาดากินลูกกาแฟที่มีเมล็ดกาแฟอยู่ด้วย
แต่กาแฟขี้ช้างของคุณเบลคในช่วงแรกนั้น เขาบอกว่า “รสชาติแย่มาก”
จากนั้นเขาใช้เงินลงทุนราว 15 ล้านบาท
และเวลาอีก 10 ปีในการพัฒนากรรมวิธีเพื่อผลิตกาแฟขี้ช้าง
โดยทดลองทั้งที่แคนาดาและศูนย์เลี้ยงช้างในอินโดนีเซีย
แต่สุดท้ายได้มาเลือกประเทศไทยเป็นที่ผลิต เพราะเห็นว่ามีบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากที่สุด
เนื่องจากมีศูนย์เลี้ยงช้างและมีหน่วยงานจิตอาสาที่ทำงานอนุรักษ์ช้างหลายแห่ง
คุณเบลคตั้งใจไว้แล้วว่า เขาจะมอบเงินรายได้ 8 %
จากการผลิตกาแฟนี้ให้กับองค์กรอนุรักษ์ช้าง
โดยปัจจุบันเขาทำงานกับมูลนิธิช้างเอเชียสามเหลี่ยมทองคำ และเริ่มผลิตกาแฟขี้ช้างในประเทศไทยที่
อ. เชียงแสน จ. เชียงราย ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
คุณเบลคยืนยันว่า
เขาเป็นคนแรกที่คิดค้นวิธีผลิตกาแฟขี้ช้างสำเร็จ
จนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและรสชาติที่ติดตลาด ส่วนที่ผลิตภัณฑ์มีราคาแพงนั้น
เป็นเพราะกระบวนการผลิตที่ลำบากซับซ้อน ต้องคัดผลกาแฟที่มีคุณภาพให้ช้างกิน
โดยตอนนี้ใช้พันธุ์อาราบิก้าของไทย ซึ่งต้องให้ช้างกินถึง 33 กิโลกรัม
เพื่อที่จะได้กาแฟขี้ช้างมา 1 กิโลกรัม เวลาช้างกินกาแฟ ช้างจะเคี้ยวด้วย
เมล็ดกาแฟบางส่วนก็จะแตกหักหรือถูกย่อยไป
ส่วนที่เหลือขับถ่ายออกมานั้นจะเลือกเอาเฉพาะเมล็ดที่สมบูรณ์
นอกจากนี้ยังมีเมล็ดกาแฟที่สูญหายไปตอนที่ช้างลงไปอาบและขับถ่ายในน้ำ
ส่วนตอนที่ช้างออกไปเดินตามป่าเขานั้น
ควาญช้างจะต้องคอยตามเก็บเมล็ดกาแฟที่ช้างขับถ่ายออกมาระหว่างทางด้วย
จากนั้นจะนำไปผ่านกระบวนการทำความสะอาดและคัดเลือกขนาดเมล็ดกาแฟที่ใหญ่และสมบูรณ์อีกครั้ง
คุณเบลคอธิบายว่าแม้ว่ากาแฟมีส่วนประกอบของคาเฟอิน
แต่คาเฟอินในเมล็ดกาแฟไม่กระทบต่อช้าง เพราะในตอนนั้นคาเฟอินยังไม่ออกฤทธิ์
จนกว่าเมล็ดกาแฟจะถูกความร้อนสูงผ่านกระบวนการคั่ว
นอกจากนั้นกาแฟอาราบิก้ายังมีปริมาณคาเฟอินน้อยกว่ากาแฟสายพันธุ์อื่น
ในแต่ละปีมีกาแฟขี้ช้างยี่ห้อ แบลค ไอวอรี
คอฟฟี ออกจำหน่ายในปริมาณไม่มาก โดยในปีนี้ผลิตได้ 150 กิโลกรัม
ส่วนเมื่อปีที่แล้วผลิตได้ 200 กิโลกรัม
ทั้งนี้ผลผลิตกาแฟอาราบิก้าซึ่งเป็นวัตถุดิบในแต่ละปีก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดปริมาณการผลิตกาแฟขี้ช้างด้วย
โดยคุณเบลคเองเป็นผู้คัดเลือกกาแฟอาราบิก้าให้ช้างกิน
ขณะนี้กาแฟขี้ช้างของคุณเบลคเป็นกาแฟที่เจาะตลาดบนและจำหน่ายให้กับโรงแรมห้าดาวและภัตตาคารระดับมิชลินสตาร์ทั้งในไทยและต่างประเทศ
และมีส่วนหนึ่งที่จำหน่ายผ่านอินเทอร์เน็ต
คุณเบลคบอกว่า ช้างเป็นสัตว์กินพืช
เมื่อเมล็ดกาแฟที่ช้างกินเข้าไปถูกบ่มอยู่ในระบบการย่อยของช้างรวมกับพืชชนิดอื่น ๆ
ที่ช้างกิน ทำให้กาแฟที่ผลิตออกมามีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์
คือมีกลิ่นช็อกโกแลต และมีทั้งรสชาติของดาร์ก ช็อกโกแลต, มอลต์,
รวมทั้งเครื่องเทศ แต่ไม่มีรสขมบาดปาก คุณเบลคยังบอกด้วยว่า มีคนในแวดวงสังคมชั้นสูงหรือ
“ไฮโซ” หลายคนบินไปจากกรุงเทพฯ
เพื่อไปดื่มกาแฟขี้ช้างของเขาที่เชียงแสนเป็นประจำ
คุณเบลคบอกว่า กาแฟแบลค ไอวอรี คอฟฟี ของเขา
เป็นกาแฟขี้ช้างเพียงเจ้าเดียวในโลก
มีนักลงทุนหลายรายทั้งในไทยและต่างประเทศเคยติดต่อมาเพื่อขอร่วมลงทุน หรือขอ “สูตรลับ”
ในกระบวนการผลิต แต่คุณเบลคบอกบีบีซีไทยว่า เขาพอใจกับธุรกิจในขณะนี้
ที่เขาสามารถควบคุมคุณภาพได้ด้วยตนเองและช้างได้รับการดูแลอย่างดี
เขายังคงต้องการให้แบลค ไอวอรี คอฟฟี เป็นกาแฟพิเศษที่หายาก มีคุณภาพสูง
จึงยังไม่คิดจะเปิดเผยสูตรลับหรือหาผู้ร่วมลงทุนเพิ่มแต่อย่างใด
ที่มา BCC Thai
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น