หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

รู้หรือไม่? มลพิษทางอากาศบางชนิดสามารถซึมผ่านผิวหนังเราได้

มลพิษทางอากาศหลายคนคงคิดถึง ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ฝุ่นละอองในอากาศ หรือควันจากบุหรี่ แต่มลพิษทางอากาศที่ผู้เขียนอยากจะสื่อนั้น รวมถึงกลิ่นของสารเคมีเช่น ไอระเหยน้ำมัน ไอระเหยของน้ำยาทาเล็บ ตัวทำละลายต่างๆ หรือแม้กระทั่งกลิ่นหรือไอระเหยของสีทาบ้าน กาว เรียกได้ว่าทุกๆ อย่างที่อยู่ในอากาศ เมื่อเข้าสู่ร่างแล้วเป็นอันตรายต่อชีวิต ต่อระบบภายในของร่างกายนั่นคือ มลพิษทางอากาศ

ตัวอย่างของงานวิจัยที่เพิ่งค้นพบถึงอันตรายของมลพิษเหล่านี้ ได้แก่ มลพิษทางอากาศที่มีขนาดเล็กในระดับนาโนเมตร เมื่อเราหายใจเข้าไป เจ้ามลพิษนี้จะเข้าไปถึงปอดและสามารถบล็อคการเคลื่อนที่ของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือพากินสันได้ นอกจากนี้เจ้ามลพิษที่มีขนาดเล็กมากๆ นี้ยังสามารถซึมไปตามเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย ทำลาย DNA โปรตีน หรือโครงสร้างของเซลล์ ทำให้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมามลพิษทางอากาศเหล่านี้นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพแล้ว งานวิจัยล่าสุดได้พบว่า มลพิษทางอากาศยังส่งผลต่อบุคลิกภาพด้วย ซึ่งงานวิจัยได้ศึกษากับหนูทดลองพบว่า เมื่อให้หนูดมสารเคมีที่ชื่อว่า บีสพีนอล (Bisphenol S) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ผลิตกระดาษและพลาสติกใส ผลการศึกษาพบว่า หนูที่ได้รับสารเคมีส่งผลต่อฮอร์โมนของหนูทำให้มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปคือ มีก้าวร้าวมากขึ้น จากตัวอย่างงานวิจัยจะเห็นได้ว่า มลพิษทางอากาศนั้นส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ต่อทั้งมนุษย์และสัตว์

          หลายๆ คนคงคิดว่า มลพิษทางอากาศสามารถเข้าสู่ร่างกายเราโดยการหายใจเท่านั้น นั่นคุณอาจคิดผิดมาโดยตลอด เพราะงานวิจัยใหม่ๆ ได้ค้นพบว่า มีสารเคมีบางตัวที่สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์โดยการซึมผ่านเข้าสู่ผิวหนัง! น่ากลัวใช่หรือไม่? เพราะเพียงแค่ปิดจมูก หรือใส่หน้ากากที่มีตัวกรองสารเคมี กลับไม่สามารถป้องกันมลพิษเหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ การหายใจสามารถนำมลพิษเข้าสู่ปอด และเข้าสู่กระแสเลือดเป็นลำดับต่อไป แต่อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดของร่างกายกลับเป็นผิวหนัง ซึ่งนักวิศวะสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่า ผิวหนังคนทำหน้าที่คล้ายกับฟองน้ำเพื่อดูดซับสารเคมี โดยสารเคมีที่เริ่มศึกษาคือ พทาเลท (Phthalates) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นตัวทำละลายและผลิตพลาสติก ซึ่งในปัจจุบันพบว่า เนื่องจากการใช้สารเคมีประเภทนี้อย่างแพร่หลายทำให้พบได้มากในอากาศ และในร่างกายมนุษย์เอง! 
           ผลการศึกษาในคน โดยให้คนเหล่านี้ได้รับสารตระกูลพทาเลท 2 ตัวคือ diethyl (Di-ETH-ul) phthalate หรือ DEP ซึ่งเป็นส่วนผสมสำคัญในเครื่องสำอาง น้ำหอม และผลิตภัณฑ์พวกแชมพู พบว่าสารตัวนี้มีผลต่ออวัยวะสืบพันธ์ สารเคมีตัวที่สอง คือ di-n-butyl (BEU-tul) phthalate หรือ DnBP ซึ่งพบมากในเครื่องสำอาง และใช้กันอย่างแพร่หลายสำหรับเป็นส่วนผสมของกาว พลาสติกและสารหล่อลื่น ซึ่งอันตรายของมันนั้นส่งให้เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน

        การทดลองทำโดย ให้ผู้ทดสอบสวมฮูด (Hood) ครอบศีรษะเพื่อที่จะหายใจในอากาศที่สะอาดเท่านั้น โดยให้แต่ละคนจะสวมเสื้อผ้าที่ไม่หนาและสั้นๆ เพื่อที่จะให้ผิวหนังได้สัมผัสกับสารที่อยู่ในอากาศ ผลการศึกษาพบว่า สาร DEP สามารถเข้าสู่ผิวหนังและการหายใจในปริมาณที่เท่าๆ กัน ส่วน DnBP ผิวหนังสามารถดูดซับสารนี้เข้าไปได้มากกว่าการหายใจถึง 80% โดยประเด็นที่น่าตกใจคือ ในการทดสอบครั้งนี้ใช้เวลาเพียงแค่ 6 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาที่น้อยเกินไปที่จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนถึงปริมาณการดูดซึมสารเคมี นักวิจัยกล่าวว่า หากเพิ่มเวลานานขึ้นถึง 30-40 ชั่วโมง ผิวหนังเราน่าจะสามารถดูดซึมสารเคมีเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าการหายใจถึง 5-6 เท่า ดังนั้นในการค้นพบครั้งนี้จึงสามารถอธิบายว่า สารเคมีชนิดพทาเลทที่พบในของใช้เด็กทารก เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด 
     นอกจากนี้ไม่เพียงแค่สารเคมีชนิดพทาเลทเท่านั้น นักวิจัยยังค้นพบว่า สารเคมีที่มีขนาดอนุภาคไม่ใหญ่มากสามารถระเหย ซึม เข้าสู่ผิวหนังได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น สารเคมีในน้ำยาทาเล็บ พาราเบนในครีมกันแดด และนิโคติน ซึ่งจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราได้รับสารเหล่านี้ในทุกๆ วัน ทุกๆ ชั่วโมง ลองนึกภาพคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเหล่านี้ เช่น พนักงานในร้านทาเล็บ หรือพนักงานในโรงงานผลิตพลาสติก ซึ่งมีโอกาสได้รับสารเคมีเหล่านี้ซึมเข้าสู่ผิวหนังมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่านัก

ทุกวันนี้คนเราอยู่กับสารเคมีเหล่านี้จนชิน จึงไม่ได้รู้สึกถึงอันตรายจากสารเคมีเหล่านี้ แน่นอนว่าอาการของโรคไม่ได้แสดงทันทีที่ได้รับสารพิษ แต่มันใช้ระยะเวลาสะสม จากวันละเล็กละน้อยที่ร่างกายได้รับ อาจจะ 10 ปีหรือ 20 ปี จึงค่อยแสดงอาการออกมาให้เราได้พึงระวังและป้องกันตัวหรือไม่มันก็อาจจะสายเกินไป

ที่มา 
-https://student.societyforscience.org/article/nano-air-pollutants-strike-blow-brain
-https://student.societyforscience.org/article/some-pollutants-made-mice-less-friendly

-https://student.societyforscience.org/article/some-air-pollutants-seep-through-skin


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น