หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เว็บไซต์ไทยวิกฤต จะอยู่รอดเพียงเว็บใหญ่

ทรูฮิตส์ เผย ประชากรอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีจำนวนมากกว่า 25,090,390 คน เฉลี่ยแล้วคิดเป็น 6.15 ล้านคนต่อวัน เพิ่มขึ้น 26.77% จากปี 2553 ซึ่งคนไทยออนไลน์เฉลี่ย 5.05 ล้านคนต่อวัน แต่ปรากฏว่าคนไทยนิยมใช้งานเว็บไซต์ต่างประเทศมาก ทำให้ ?เพจวิว? เว็บไทยเติบโตไม่ถึง 1% ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจแปลว่าเงินโฆษณาไทยจะไหลออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง และเว็บไซต์ไทยจะอยู่รอดเพียงเว็บใหญ่เท่านั้น
นายปิยะ ตัณฑวิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิค บริษัท ศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตไทย จำกัด หรือทรูฮิตส์ (Truehits.net) กล่าวใน ?งานประกาศผลรางวัลเว็บไซต์ยอดนิยม Truehits.net Web Award 2011? วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ว่า ในกลุ่มคนไทยที่ออนไลน์เฉลี่ยวันละประมาณ 6 ล้านคนนั้นเป็นผู้ที่อยู่ในต่างประเทศ 4 แสน 4 หมื่นคน โดยเดือนสิงหาคม 2554 คือเดือนที่สถิติประชากรอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีจำนวนสูงที่สุด คือ 25,090,390 คน
แม้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนครั้งของการเยี่ยมชมเว็บไซต์ในประเทศไทยเฉลี่ยต่อวัน (เพจวิว) กลับใกล้เคียงสถิติปี 2553 โดยจากสถิติที่รวบรวมจากเว็บไซต์ 11,000 เว็บที่เป็นสมาชิกกับทรูฮิตส์ พบว่าประเทศไทยมีเพจวิวเฉลี่ย 127 ล้านครั้ง เติบโตไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับเพจวิวปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 125 ล้านครั้ง
เหตุผลสำคัญของสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไทยนิยมใช้งานเว็บไซต์ต่างประเทศมากกว่าเว็บไทย โดยเฉพาะเว็บไซต์เครือข่ายสังคมยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก ทำให้โอกาสที่เงินโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทยจะไปกองอยู่ที่ ?เว็บนอก? อย่างเฟซบุ๊กและกูเกิล ซึ่งรายหลังเป็นเว็บไซต์ที่ชาวออนไลน์ของไทย 99% ใช้ค้นหาข้อมูล
สิ่งที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้คือเว็บไซต์ไทยรายเล็กต้องปรับตัว ไม่เช่นนั้นโอกาสอยู่รอดก็จะมีเพียงเว็บไซต์รายใหญ่มาก อย่างสนุก กระปุก และเอ็มไทย
การสำรวจของทรูฮิตส์พบว่า ปี 2554 คนไทยนิยมชมเว็บไซต์หมวดบันเทิงมากที่สุด (37%) รองลงมาเป็นเกมออนไลน์ (13%) อันดับ 3 คือเว็บล็อกและไดอารีออนไลน์ (10.4%) ตามมาด้วยเว็บข่าว (7%) และเว็บไซต์ชอปปิ้ง (5%)
ระบบปฏิบัติการ Windows7 และเบราเซอร์ Chrome คือระบบปฏิบัติการและโปรแกรมเปิดเว็บไซต์ที่คนไทยใช้งานมากที่สุด โดยในบรรดาอุปกรณ์พกพา คนไทยใช้ไอโฟน (iPhone) และไอแพด (iPad) เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตถึง 46.53% และ 31.19% คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 113.47% และ 529.81% ตามลำดับ
ชายไทยนั้นออนไลน์มากกว่าหญิง สัดส่วนขณะนี้คือ 55% และ 45% ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา โดยชาวออนไลน์ไทยส่วนใหญ่กระจุกตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (31%) รองลงมาคือภาคกลาง (20%) อีสาน (18%) ใต้ (12%) เหนือ (10%) และตะวันออก (9%)

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น